เดือนสุดท้าย | 2016

วันสุดท้ายของปี 2016 มาเยือนอย่างรวดเร็วสมกับคำเล่าลือที่ว่า ยิ่งอายุมากขึ้น เวลายิ่งผ่านไปเร็วขี้น

ปีนี้เป็นปีที่ผ่านไปพร้อมๆกับการเรียนรู้ที่สำคัญหลายอย่าง และถึงแม้ว่าเราจะเข้าใจมันมากสักเท่าไร มันก็ยังวนเวียนกลับมาสอนมาทดสอบอยู่หลายครา และเราก็ขอลิสต์ลงมาเพื่อเตือนใจตัวเองอีก(หลายๆ)ครั้งในยามที่มันกลับมาเยือน ในรอบหน้าและเผื่อว่าอาจจะเป็นประโยชน์ต่อใครหลายๆคนค่ะ

  1. การห่วงความเป็นความอยู่ : มันเกิดขึ้นง่ายและรวดเร็วมาก ความกังวลในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร จะอยู่อย่างไร ถ้าเลือกสิ่งนี้แล้วจะทำให้ชีวิตเป็นอย่างไร? และอีกจิปาถะ ยิ่งหากมาพร้อมกับคนรอบข้างที่แสดง ความกังวลและเป็นห่วงออกมา ยิ่งที่ให้ทรุดหนัก กลายเป็นเครียดกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึงเลยทีเดียว….อาการ: ตอนแรกๆจะยังคงจมกับความคิด เป็นกังวล และเครียด เราจะพยายามแก้ไขปัญหาแต่กลายเป็นการ พายเรือในอ่างที่ไม่จบสิ้น แก้ตรงนี้ ตรงนั้นเกิดปัญหา และไม่มีทางจะจบได้ เวลาคิดหนักๆเข้า กลายเป็นซึมเศร้าและอาจมองว่าตัวเองไม่มีคุณค่าได้ง่ายๆ

    วิธีรับมือ A:  “ยอมรับความจริง” การยอมรับว่าอะไรคือ สิ่งที่ทำให้เกิดความกังวล และ ยอมรับว่าเรากำลังฟุ้งซ่านอยู่ จะทำให้เรามองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและความเป็นจริงมากขึ้น แค่ยอมรับเฉยๆ ไม่ต้องไปหาวิธีแก้ใดๆทั้งสิ้น เพราะเดี๋ยวจะวนกันอีกหลายรอบ

    วิธีรับมือ B: “จริงจังกับชีวิตให้น้อยลง” หัวใจสำคัญของอาการนี้คือ การจริงจังกับชีวิตมากเกินไป เพราะฉะนั้น ถอยออกมามองก่อน โดยลดความจริงจังลง คล้ายๆกับว่าการอยู่ก็เหมือนกับการมาเที่ยวบนโลกใบนี้ สุดท้ายก็ต้องจากโลกนี้ไปอยู่ดี และไม่ว่าจะจนหรือจะรวย คนเรากินได้เพียงอิ่มเดียว นอนหลับก็เพียงตื่นเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้น กังวลไปก็เท่านั้น เอาเวลามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันให้ดีที่สุดดีกว่า และที่สำคัญ ความเครียดจากความฟุ้ง(ซ่าน/เฟ้อ)ที่เราสร้างขึ้นนั้น ดูดวิญญาณและพลังงานที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันไปอย่างมหาศาล!

    วิธีรับมือ C: “ปล่อยวางความคิด” คำว่าปล่อยวางไม่ได้หมายถึงให้ปล่อยทุกสิ่งทุกอย่างแล้วหนีปัญหา แต่หมายถึงให้ปล่อยวางความฟุ้งซ่านที่เราคิดเอง เออเอง ให้มันผ่านไป และยอมรับความกังวลว่า มันเป็นธรรมดาน่า ไม่ต้องไปต่อความยาวสาวความยืดกับมันไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม! หยุดคิดก็จะหยุดความกังวลนาจา (หลวงพ่อได้กล่าวไว้ว่า : ช่างได้ช่างไม่ได้ก็ช่างมัน ปล่อยได้ปล่อยไม่ได้ก็ปล่อยมัน ยอมได้ยอมไม่ได้ก็ยอมมัน)

    วิธีรับมือ D: “วางใจในชีวิต” คำนี้จะมีบทบาทสำคัญมากเมื่อเราเผชิญปัญหาที่ทำให้เราไม่แน่ใจ หรือ มีคำถามกับตัวเราเอง หรือกับเส้นทางที่เรากำลังจะเลือก หรือ กำลังเดินอยู่แล้ว … สิ่งสำคัญคือ การเชื่อใจและวางใจในเส้นทางที่เราเดินไป แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า ถ้าเราเลือกเดินอยู่ในเส้นทางที่มันเสี่ยงเห็นๆ แล้วจะรอดพ้นปัญหา มันก็ไม่ใช่เช่นนั้น (เลือกแล้วก็ต้องรับผลของการตัดสินใจอยู่ดีนะจ๊ะ) เพียงแต่เราอาจเตรียมพร้อมและรับมือกับมันได้ดียิ่งขึ้นก็เท่านั้นเอง …..การวางใจในชีวิตและเชื่อในตัวเรา ทำให้ลดความกลัวลงเยอะมาก แม้รอบตัวจะไม่มีใครเชื่อในตัวเรา เราก็ยังคงมีพลังในการเดินต่อไปได้ โดยไม่รู้สึกสิ้นหวัง

    วิธีรับมือ E: “หยุดสร้างเงื่อนไข”บางครั้งการใช้ชีวิตที่ควรจะง่ายแต่กลับยาก อาจเป็นเพราะเราสร้างเงื่อนไขไว้เยอะเกินไป จนทำให้เราขยับได้ยาก ซึ่งส่วนใหญ่อาจมาจากความ ชอบ ไม่ชอบ เป็น ไม่เป็น ของเราเอง และหลายๆครั้งเราต้องเตือนตัวเองให้มีความยืดหยุ่นที่มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อจะได้มีความกดดันน้อยลง และสอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น (และหลายๆครั้งที่เราอาจจะมีความฝันในสิ่งที่มันไม่ตรงกับความเป็นจริง จนทำให้เราเครียดไปเองได้)

    วิธีรับมือ F: “หยุดคิดและลงมือทำในสิ่งที่ควรทำ” ความคิดมักพาเราหลงเข้าไปอยู่ในสิ่งที่ไม่ได้อยู่ตรงหน้าเสมอ…มันอาจจะคล้ายๆกับการคิดว่าจะทำแต่ตัวไม่ขยับ และสุดท้ายก็ไม่เกิดอะไรขึ้น นอกจากจะไม่ทำให้เราหายกังวลแล้ว ยังอาจช่วยทำให้จมยิ่งขึ้น…เพราะฉะนั้น หยุดคิด และทำในสิ่งที่เราควรทำที่มีอยู่ตรงหน้าซะ…ก็จะช่วยให้เรากลับมาอยู่ในปัจจุบันมากขึ้นเอง

  2. ความอยากมี อยากได้ อยากเป็น  นับเป็นโจทย์คลาสสิคที่หลายคนอาจจะเจอทุกเมื่อเชื่อวัน โดยเฉพาะเมื่อเข้าไปอยู่ในโลกไซเบอร์และโซเชียลมีเดีย ที่เต็มไปด้วยการใช้ชีวิตหลายๆแบบ จนบางทีแอบเผลอไปอินเข้า…กลายเป็นการเปรียบเทียบและเกิดความอยากที่จะมีจะเป็นจะได้เหมือนคนอื่น หรือ แม้กระทั่งโฆษณาที่พยายามปรับเพื่อให้เหมาะกับความชอบเรา ไอ้กิเลสเหล่านี้จึงมาวนเวียนให้เห็นอยู่บ่อยๆ  จนอาจลืมไปว่า ที่เห็นทั้งหลายนั้น มันเป็นเพียงวัตถุและสิ่งยั่วยวนภายนอกเท่านั้นนะเธอ

    อาการ:
    อยู่ดีๆก็รู้สึกว่า เราต้องเป็นอย่างคนนั้นคนนี้…เราต้องได้แบบนั้นแบบนี้…เราต้องมีสิ่งนั้นสิ่งนี้..จนกลายเป็นการสร้างความกดดันให้กับตัวเองและทำให้ความสุขมลายหายไปซะอย่างนั้น เกิดเป็นอารมณ์เบื่อๆ เซ็งๆ หงุดหงิด งุ่นง่าน คล้ายกับการไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการและเกิดความขัดแย้งภายในแถมอาจลามไปยังคนรอบข้างอีกด้วยวิธีรับมือ A: “หยุดเปรียบเทียบ” หากใครมีความสุข เราก็ยินดี หากใครมีความทุกข์เราก็ให้กำลังใจ….การเปรียบเทียบเป็นสิ่งที่สามารถทำให้เราหมดแรงโดยไม่ต้องใช้แรงใดๆเลย การปรับทัศนคติและความคิดเป็นสิ่งจำเป็นมาก หากลองได้หยุดเปรียบเทียบจะทำให้ใช้ชีวิตง่ายขึ้น เป็นอย่างที่เราเป็น ไร้ความกดดัน และมีจิตใจที่โปร่งขึ้นเยอะเลยทีเดียว

    วิธีรับมือ B: “ยอมรับตัวเอง” การยอมรับในตัวเราและยอมรับในชีวิตตัวเองโดยพึงพอใจในสิ่งที่มี เป็นสิ่งสำคัญมากในการรับมือกับสิ่งที่เราได้เห็น ได้อ่าน ได้ฟัง จากภายนอก เพราะเมื่อใดที่เราเริ่มไม่พอใจในสิ่งที่เป็นหรือที่มีอยู่ จะทำให้ความทุกข์เข้ามานั่งในใจได้อย่างรวดเร็วแบบสายฟ้าแลบเลยทีเดียว นอกจากนั้น เมื่อเรายอมรับตัวเองได้ทั้งข้อดีข้อเสียแล้ว เราก็จะปรับปรุงและพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ตามสเตปเราเองโดยไม่จำเป็นต้องตามใคร

    วิธีรับมือ C: “ปล่อยความอยากให้ผ่านไป” บ่อยครั้งที่เมื่อเราเห็นโฆษณาแล้วเกิดความอยากได้ อยากไปเที่ยว อยากไปซื้อโน่นนี่นั่น..แต่หากมันเกินตัวถึงแม้จะจ่ายได้ก็ตาม ก็จะทำให้เป็นทุกข์เป็นร้อนทีหลัง ถ้ามันไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น สิ่งที่ทำได้คือ ปล่อยให้มันผ่านไป แล้วเราจะเริ่มมีสติว่า…เออ…จริง! มันไม่ได้จำเป็นขนาดนั้นนี่ ไม่มีก็ไม่ได้มีผลอะไรกับชีวิต!

    วิธีรับมือ D: “ลดการให้ค่ากับเปลือก” การมองผ่านทะลุหน้าจอ เป็นสิ่งสำคัญในสมัยนี้ เปลือกทั้งหลายที่ผู้คนพยายามสื่อว่าตัวเองมีความสุข แม้ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่อาจทำให้เราเข้าใจผิดได้ว่า คนเหล่านี้ไม่มีความทุกข์ ทั้งๆที่แต่ละคนต่างมีปัญหาไปคนละแบบ การลดการให้ค่ากับความฉาบฉวยทั้งหลายจะช่วยให้เราไม่ไปหลงติดอยู่กับเปลือก และเริ่มมองเห็นแก่นของการใช้ชีวิตได้ดีขึ้น และเมื่อเราไม่ให้ค่าแล้ว เราก็ไม่ไปทุกข์ร้อนกับมันอีกต่อไป

  3. “การทำงานติดขัด” ปีนี้เป็นปีที่เราอยู่กับงานเสียเยอะ อาจเพราะเป็นงานเขียนที่ต้องใช้ข้อมูลเสียส่วนใหญ่ ซึ่งนับเป็นสิ่งใหม่สำหรับเราพอควร เลยเกิดอาการคิดงานไม่ออกหลายครั้งหลายครา หรือ ทำงานช้ามากจนเกิดความหงุดหงิดกับตัวเองอาการ: เปิดคอมพิวเตอร์ แล้วไม่ได้งาน อ่านอะไรก็ไม่เข้าหัว มีอาการคิดวนไปวนมา เช่น จะเรียงลำดับการเขียนยังไงดี ใช้ตรรกะอะไร วกวนหาทางออกไม่เจอ อยู่ในช่วงกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ชะงักงันอยู่ตรงนั้น!

    วิธีรับมือ A: “หยุดคิดแล้วลงมือทำ” บางทีการแพลนอาจจะดี แต่มันคล้ายๆกับการคิดเลข หากเราไม่ลองทำอะไรสักอย่าง มันก็จะไม่เจอปัญหาและไม่สามารถแก้ปัญหานั้นๆได้ การคิดเพียงอย่างเดียวไม่ต่างกับอาการฟุ้งซ่านที่สร้างมายาหลอกตัวเอง…เพราะฉะนั้นหากมีข้อมูลแล้วลงมือทำเลย ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีก็ไม่เป็นไรอย่างน้อยก็ได้เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง แล้วค่อยปรับปรุงกันได้

    วิธีรับมือ B: ” ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ” แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีเมื่อเราอยากทำอะไรให้ออกมาอย่างสมบูรณ์แบบ แต่บางทีมันอาจเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เราทำงานยาก และงานออกมาช้ากว่าที่ควรจะเป็น ลองลดจาก 100% ให้เหลือสัก 80% จะช่วยให้งานดำเนินไปอย่างรวดเร็วขึ้น และง่ายขึ้นเยอะ ดีไม่ดี ออกมาดีกว่าที่เราคิดไว้ด้วยซ้ำ

    วิธีรับมือ C: “ทำให้ดีที่สุด และยอมรับในสิ่งที่ตามมา” หากเรายอมรับในสิ่งที่ตามมาได้ไม่ว่าผลจะดีหรือไม่ก็ตามในขณะที่เราทำดีที่สุดในเวลาที่มีอยู่ จะทำให้เราไม่กลัวกับการใส่ไอเดียลงไป เพราะการกลัวความผิดพลาด เป็นตัวปิดกั้นบานใหญ่ ที่ทำให้เรามีขาดอิสระในการทำการคิด และเกิดความลังเลในการตัดสินใจ ทำให้งานช้าและเต็มไปด้วยความกดดัน

    วิธีรับมือ D: “ขอความช่วยเหลือ” หากมีสิ่งใดที่เราคิดว่าเราไม่สามารถทำได้จริงๆ เราอาจต้องกล้าที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นที่ถนัดสิ่งนั้นๆ ซึ่งอาจจะช่วยให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นเป็นกอง

    วิธีรับมือ E: “ทำงานอย่างผ่อนคลาย” หลายครั้งที่เราอินและจริงจังกับงานมากเกินไป จนทำให้เราใช้พลังงานเกินพอดี ทำให้กลายเป็นความเหนื่อยล้า และเครียดโดยไม่จำเป็น…. การถอยออกมามอง จะทำให้เราทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะสมองมักทำงานได้ดีเวลาผ่อนคลาย ไม่ใช่เครียดนาจา

    วิธีรับมือ F: “ปรับการทำงาน” ในช่วงระยะเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา เราปรับการทำงานตลอดเวลา เพราะการทำงานอย่างA อาจจะเหมาะกับ A แต่ไม่เหมาะกับ B เพราะฉะนั้น เราจะต้องหาวิธี B ที่เหมาะกับ B เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นและง่ายขึ้น…บางทีอาจจะต้องจัดการกับการแบ่งเวลาให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตและการทำงานควบคู่กันไป…หรือบางทีเราอาจจะต้องพลิกแพลงหาตัวช่วยในการรวบรวมไอเดีย เพื่อให้เราเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น..

    วิธีรับมือ G: “หาเวลาไม่คิดงานบ้าง” บางทีเราอาจจะติดอยู่กับงานมากเกินไปจนทำให้สมองเต็ม…การหันไปทำอย่างอื่นที่ใช้คู่ตรงข้ามกัน (เช่น ตรรกะ ตรงข้ามกับ ความคิดสร้างสรรค์) ก็จะช่วยให้เราได้พักในส่วนสมองส่วนนั้น….ทำให้มันฟื้นตัวบ้างไม่มากก็น้อย….

    วิธีรับมือ H: “พักผ่อน” คำง่ายๆที่ได้ยินกันทุกวัน เป็นหัวใจหลัก ของการทำงานให้ได้ประสิทธิภาพ อย่างเป็นอมตะจริงๆ!

    ณ จุดนี้ เรารู้สึกว่า เป็นการเขียน 3 ข้อที่ยาวมาก ขอเก็บหัวข้ออื่นไว้เขียนครั้งหน้าๆบ้าง เดี๋ยวจะไม่มีอะไรเขียนกันพอดี ขอบคุณที่อ่านกันมาถึงบรรทัดนี้นะคะ สำหรับปีหน้าฟ้าใหม่ เราขออวยพรให้ทุกคนอยู่อย่างไร้กังวล ไร้ทุกข์โศก มีสุขภาพกายแข็งแรง สุขภาพจิตแจ่มใสกันนะค้า 🙂

บ๊ายบายปี 2016
เดอะทูต และ โอลีฟค่า

Advertisement

Share your thoughts with us!

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s