ความหลง ไม่ได้หมายถึงเพียง ลุ่มหลงในความรัก ความสวยงาม หรือ ทรัพย์สินเงินทองเท่านั้น
ความหลงสามารถนำพาผู้คนให้ไปยึดติดได้กับทุกๆอย่าง
มันเกิดขึ้นได้เพียงชั่วขณะจิต หลอมรวมตัวเองในอนุสัย สันดาน
มันเป็นจุดกำเนิดแห่งกรรมและมันกลายเป็นจุดหมายปลายทางเปรียบเสมือนเข็มทิศที่ชี้ไปทางใดทางหนึ่ง
หน้าที่ของมันเหมือนกรงสีต่างๆที่เราสร้างและครอบตัวเองเอาไว้
จุดมุ่งหมายต่างๆไม่ว่าจะอุทิศตนเพื่ออะไรก็แล้วแต่…
ความดี ความชั่ว สิ่งที่ผิด ที่ถูก มันคือความหลงในบริบทที่แตกต่างกัน
โดยที่สัจธรรมความจริงนั้นไม่ได้อยู่ในทิศใดทิศหนึ่ง
แต่มันคือความว่างเปล่าที่ไม่เลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เข้าใจถึงธรรมชาติอันดั้งเดิม
ตัณหาหรือความหลงเริ่มต้นจากกิเลสของความ”อยาก/ไม่อยาก”
ไม่ว่าจะเป็น “การรู้ การเห็น การเป็น ความรู้สึก การพูด”
หากเราจมวนเวียนในความอยากรู้ตรงนั้น
อารมณ์และความนึกคิดอุปโลกน์ในตัวเราก็จะทำงานทันที
การอุปโลกน์เปรียบเสมือนโลกในจินตนาการของเราเองโดยมีกิเลสและอารมณ์เป็นแหล่งพลังงาน
เมื่อไรที่ความอยากของเราบังเกิดรวมตัวกับสีสันของอารมณ์ปรุงแต่งเป็นอาหารชั้นเลิศรส
สิ่งที่เราอยากเป็น อยากเห็น อยากได้จะกลายเป็นจุดหมายให้เรายึดถือ
ทำให้เกิดเป็นเจตนา และ การกระทำขึ้นมาเรียกง่ายๆว่า
” กรรม”
และเมื่อมีกรรม ย่อมมี”ผล” แห่งกรรม
หากจะถามว่า มีวิธีใดบ้างที่จะปกป้องเราไม่ให้เราหลง…..
คำตอบ คือ อตัมมยตา
การช่างมัน และปลดตัวเองออกจากการยึดถือและให้ค่ากับสิ่งใดๆ
ยอมลงจากความอยากความโลภ และ ปลงกับสิ่งที่เรามีเราเป็น
เมื่อไรที่เราเลิกโฟกัส ยึดถือ ยึดติด กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือ ผู้ใดผู้หนึ่ง
เมื่อเราลงจากบัลลังค์ที่เรากอดไว้หรือปล่อยความรู้สึกที่เราหวงแหนออกไป…
เมื่อเราได้สละตัวเองออกจากความเห็นแก่ตัวเอง..
และหากจะถามว่า สำหรับผู้ที่ยังมีภาระ ยังอยู่ในโลกที่ต้องทำงานหาเงินจะทำอย่างไร?
คำตอบ คือ การอยู่ท่ามกลางการทำงาน ท่ามกลางการใช้ชีวิตในโลก
ทำงานโดยไม่หลง ใช้ชีิวิตโดยไม่หลง มีโดยไม่หลง อยู่แบบไม่หลง
และแน่นอน ไม่จำเป็นต้องเป็นใครที่ไหน…
ทุกคนที่อยู่บนโลกนี้เกิดจากความว่างเปล่า
เพียงแค่เราสละการยึดมั่นยึดถือใน “ตัวเรา ของเรา”
ความหลงจะค่อยๆจางหายไปด้วยตัวของมันเอง…
หากเราช่างมันบ่อยๆเข้า….
เราก็จะเข้าใจได้เอง…….